ทุ่งบัวตอง (สวนเฉลิมพระเกียรติ เหมืองแม่เมาะ) ลำปาง (9 ธ.ค.58)
สถานที่แวะชมที่สุดท้ายของทริปนี้ (จากนั้นจะพบกันใหม่อีกครั้ง 5-9 ธันวาคม 2559)
หลังจากเดินทางออกจากวัดพระพุทธบาทปู่ผาแดง ที่เป็นอันซีนเมืองไทย เราก็เดินทางมาที่เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อมาแวะชมทุ่งบัวตองและสวนเฉลิมพระเกียรติ ที่สร้างเพื่อฟื้นฟูนิเวศน์รอบเหมืองถ่านหิน
ไปชมภาพกันเลย
ที่มา...
http://maemoh.egat.com/index_maemoh/index.php?page=154
ดอกบัวตองแม่เมาะ เบ่งบานต้อนรับเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ พร้อมชมสวนสวย สวนเฉลิมพระเกียรติฯ แหล่งเรียนรู้ใหม่ของลำปาง
ทุ่งดอกบัวตองบนพื้นที่ 500 ไร่ของ กฟผ.แม่เมาะ บานแล้ว 70% ของพื้นที่ และเชิญชวนนักท่องเที่ยวลองสัมผัสสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ของชาวลำปาง ที่มีหอคอย สวนนก ลานฟอสซิล บนพื้นที่ 84 ไร่ ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวในงานเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ 16-18 พ.ย. นี้
นายฉลอง สนนิ่ม หัวหน้าแผนกฟื้นฟูเหมืองแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบฟื้นฟูพื้นที่เหมือง ซึ่งปัจจุบันปรับพื้นที่เป็นทุ่งดอกบัวตอง และสวนเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวว่า “ดอกบัวตองที่ กฟผ.แม่เมาะในปีนี้ ชุดแรกจะบานในช่วงวันที่ 1-10 พ.ย. ซึ่งบานสวยที่สุด ขณะนี้ดอกบัวตองบานแล้ว 70% ของพื้นที่ (เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 55) ส่วนงานเทศกาลท่องเที่ยวฯ วันที่ 16-18 พ.ย.นี้ ดอกบัวตองยังคงบานอยู่ ซึ่งในระยะ 2-3 วันที่ผ่านมามีฝนตกในพื้นที่แม่เมาะ หากดอกบัวตองได้น้ำฝนอีกสัก 2 ครั้ง นักท่องเที่ยวอาจจะได้เห็นดอกบัวตองที่ กฟผ.แม่เมาะ บานถึงเดือนธันวาคม สำหรับทุ่งดอกบัวตองของ กฟผ.แม่เมาะ มีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสองปีที่ผ่านมาได้มีการปลูกดอกบัวตองเพิ่มเติม ในปี 2556 ดอกบัวตองจะสวยเต็มทุ่ง”
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ กฟผ.แม่เมาะ คือ สวนเฉลิมพระเกียรติแม่เมาะ โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษ 7 รอบ 5 ธันวาคม 2555 ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเดียวกันกับทุ่งบัวตอง โดยสวนเฉลิมพระเกียรติฯ มีพื้นที่ 84 ไร่ จัดสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา ดำเนินการตามแผนแม่บทงานฟื้นฟูสภาพเหมือง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดลำปาง ที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างสวนสาธารณะและสวนป่า โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 โซน โดยโซนแรกเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น ศาลาเฉลิมพระเกียรติ สวนสมุนไพร สวนหิน สวนนกที่มีรูปปั้นนกถึง 30 ตัว เป็นรูปปั้นนกที่ชมรมคนรักษ์นกและธรรมชาติ กฟผ.แม่เมาะ ได้สำรวจพบในพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ ลานฟอสซิลที่จำลองโครงกระดูกไดโนเสาร์ยุคดึกดำบรรพ์ที่พบหลักฐานว่าพบในพื้นที่ อ.แม่เมาะ ถึง 6 ตัวด้วยกัน พร้อมโครงกระดูกอีก 2 โครง และพลาดไม่ได้กับการชมทิวทัศน์ในมุมสูงของ กฟผ.แม่เมาะ ที่หอชมวิว ส่วนโซนที่ 2 เป็นสวนป่าที่จัดขึ้นโดยเลียนแบบธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศน์
นายฉลองฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า สถานที่ท่องเที่ยวของ กฟผ.แม่เมาะ สามารถขึ้นมาเที่ยวชมได้ตลอดเวลาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ และเรียนรู้แหล่งพลังงานของไทย ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษาเฉลิมพระเกียรติฯรัชกาลที่ 7, สวนพฤกษชาติ, ทุ่งดอกบัวตอง, สวนเฉลิมพระเกียรติฯ นอกจากนี้ กฟผ.แม่เมาะยังมีแผนการพัฒนาพื้นที่เพิ่มเติม โดยจะมีการปลูกป่าเพิ่มสำหรับจัดสร้างให้มีระบบนิเวศน์ที่ดี เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของจังหวัดลำปางอย่างครบครันต่อไป
ประวัติ
ที่มา...
www.wikipedia.org/เหมืองแม่เมาะ
เหมืองแม่เมาะก่อนปี 2470
กิจการเหมืองลิกไนต์ เริ่มเมื่อปี 2460 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน มีพระประสงค์จะสงวนป่าไม้ จึงโปรดให้ทำการสำรวจหาเชื้อเพลิงอย่างอื่น เพื่อนำเอามาใช้แทนฟืนสำหรับหัวรถจักรไอน้ำของรถไฟ โดยว่าจ้างชาวต่างประเทศ ให้มาดำเนินการสำรวจในระยะแรก ต่อมาระหว่างปี 2464 - 2466 ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศให้มาสำรวจอีก ปรากฏว่า พบถ่านลิกไนต์ ที่ "แม่เมาะ" จังหวัดลำปาง และที่ "คลองขนาน" จังหวัดกระบี่
เมื่อประทานบัตรสัมปทาน ซึ่งรัฐบาลได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนเปิดการทำเหมืองลิกไนต์ที่ "บ้านดอน" จังหวัดสุราษฎร์ธานี หมดอายุลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 มีพระบรมราชโองการถึงเจ้าพระยาพลเทพ ให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้ เพื่อให้ทางราชการเป็นผู้ดำเนินงานเท่านั้น โดยมีใจความว่า
ด้วยประทานบัตร์บ่อถ่านศิลาที่บ้านดอน ซึ่งอนุญาตให้แก่บริษัทบ่อถ่านศิลาสยามจำกัด ทำนั้น, ได้หมดสิ้นไปแล้ว ฉันเห็นว่าถึงเวลาอันสมควรที่จะดำริรวบรวม บ่อถ่านศิลาในพระราชอาณาจักร ไว้สำหรับรัฐบาลทำเอง เพราะจะเปนประโยชน์แก่บ้านเมืองต่อไปหาน้อยไม่ เพราะฉะนั้น ต่อไปให้สงวนบ่อถ่านศิลาที่บ้านดอน, ที่แขวงเมืองกระบี่ และที่แม่เมาะ ไว้สำหรับรัฐบาลตรวจทำ ถ้ามีผู้ใดมาขอประทานบัตร์หรือสิทธิใดๆ ในเขตต์ทั้งหลายที่กล่าวแล้ว จงแจ้งให้ทราบว่า เปนที่ๆรัฐบาลสงวนไว้ใช้ราชการ
ประชาธิปก ปร.
16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 พระที่นั่งอัมพรสถาน
เหมืองแม่เมาะหลังปี 2470
หลังจากได้มีพระบรมราชโองการออกไปแล้วนั้น ในปี 2493 กรมโลหกิจ (กรมทรัพยากรธรณี) ได้ดำเนินการสำรวจไปจนถึงปี 2496 จึงพบแหล่งถ่านลิกไนต์มีแนวชั้น ติดต่อกันยาวไปตามลำห้วยในแอ่งแม่เมาะ ต่อมาในปี 2497 รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์ เพื่อดำเนินกิจการลิกไนต์ให้บังเกิดผลอย่างจริงจัง จึงทำการก่อสร้างโรงจักรแม่เมาะ ขนาดกำลังผลิต 12,500 กิโลวัตต์ ใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง มีพิธีเปิดโรงไฟฟ้า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2503
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2503 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งการลิกไนต์ โดยโอนกิจการและทรัพย์สินขององค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์ มาเป็นของการลิกไนต์ กำหนดให้มีหน้าที่ผลิตและจำหน่ายถ่านลิกไนต์ วัตถุเคมีจากลิกไนต์ และพลังงานไฟฟ้าจากลิกไนต์ มีอำนาจดำเนินการในเขตท้องที่จังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และตาก จนกว่าการไฟฟ้ายันฮีจะขยายกิจการไปถึงจังหวัดนั้น ๆ และเขตท้องที่ในภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปทั้งหมด
เมื่อรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยรวมกิจการของการลิกไนต์ การไฟฟ้ายันฮี และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าด้วยกัน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 กฟผ. จึงได้รับโอนภาระหน้าที่ของทั้ง 3 องค์การมาดำเนินการทั้งหมด
ปัจจุบันเหมืองแม่เมาะได้ทำการขุดขนถ่านจำนวนประมาณ 15-17 ล้านตัน ส่งให้เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าหน่วยที่ 4 ถึง 13 จำนวน 10 หน่วย ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และจ่ายไปยังจังหวัดต่าง ๆ
การดำเนินกิจการ
หลังจากที่มีปัญหาด้านมลพิษทางฝุ่นควันในปี พ.ศ. 2527 ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในนามของเหมืองแม่เมาะ และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ดำเนินการรักษาและควบคุมมาตรฐานด้านมลพิษอย่างเคร่งครัด ในส่วนของเหมือง ได้ทำการติดตั้งหลังคาคลุมสายพานลำเลียงไว้ตลอดแนว พร้อมทั้งมีการฉีดพรมน้ำในสายพานลำเลียงและหน้างานเป็นระยะๆ เพื่อให้ความชื้นเป็นตัวลดการกระจายของฝุ่นละออง โดยผลจากสถานีตรวจสอบคุณภาพอากาศ ซึ่งติดตั้งไว้โดยรอบจำนวน 13 สถานีนั้น ได้รายงานผลออกมาต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ในระดับที่เป็นที่น่าพอใจ คือมีคุณภาพอากาศในทุกๆด้าน ดีกว่าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และมีคุณภาพอากาศใกล้เคียงกับเขตเมืองลำปาง นอกจากมีการฉีดน้ำพรมหน้างานแล้ว ยังมีการปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยรอบ เพื่อเป็นแนวกันฝุ่น ไม่ให้ลอยออกไปในย่านที่อยู่อาศัยใกล้เคียงด้วย
สถานที่สำคัญในบริเวณเหมือง
นอกจากกลุ่มอาคารที่ทำการ และโรงซ่อมบำรุงเครื่องมือหนักต่างๆที่ใช้ในการทำเหมือง แล้วนั้น เหมืองแม่เมาะยังประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นพื้นที่สีเขียวให้กับเหมือง ซึ่งประกอบด้วย
พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา (เหมืองแม่เมาะ)
ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าสวนพฤกษชาติ เป็นอาคารชั้นเดียว เป็นศูนย์นิทรรศการถาวร จัดแสดงเรื่องเกี่ยวกับธรณีวิทยาของประเทศไทย และเน้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดลำปางโดยตรง ประกอบด้วยส่วนจัดแสดง 4 ส่วนคือ
1. โถงกลาง จัดแสดงวีดิทัศน์นำเรื่องก่อนการเข้าชม เป็นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับถ่านหินในประเทศไทย
2. ห้องธรณีวิทยา จัดแสดงวีดิทัศน์ภาพยนตร์สามมิติ เรื่องกำเนิดโลกและกำเนิดถ่านหิน และ มีนิทรรศการเกี่ยวกับธรณีวิทยา และฟอซซิลที่พบในบริเวณพื้นที่เหมืองแม่เมาะ
3. ห้องผลิตไฟฟ้า จัดแสดงแบบจำลอง ขั้นตอนตั้งแต่เริ่มทำเหมืองจนผลิตออกมาเป็นกระแสไฟฟ้า
4. ห้องเฉลิมพระเกียรติ จัดแสดงภาพ และวีดิทัศน์ เกี่ยวกับกิจการถ่านหิน และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
สวนพฤกษชาติ
ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของบ่อเหมือง เป็นที่ตั้งของศาลาชมวิว และลานสไลเดอร์หญ้าขนาดใหญ่ ซึ่งประชาชนในพื้นที่มักมาพักผ่อนหย่อนใจกันที่นี่ โดยสวนพฤกษชาติแห่งนี้ จะมีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนดอกไม้ลงแปลงตามฤดูกาล และจะมีงานเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะขึ้นที่นี่ในเดือน พฤศจิกายน ของทุกปี ยกเว้นเมื่อปี 2549 ไม่ได้มีการจัดงานที่สวนพฤกษชาติ เนื่องจากฝนที่ตกลงมาต่อเนื่องก่อนหน้านั้น ได้ทำให้พื้นดินชื้นแฉะมาก จึงต้องย้ายไปจัดที่ทุ่งบัวตองแทน
อาคารนันทนาการและสนามกอล์ฟ
อยู่ในบริเวณใกล้กลับศูนย์พิพิธภัณฑ์ฯ เป็นอาคารใหม่ที่เพิ่งจะสร้างเสร็จในปี 2549 ในแบบสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ เป็นที่ตั้งของห้องจัดเลี้ยงและสโมสร ซึ่งย้ายมาจากบริเวณใกล้เคียงและได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นมา
ทุ่งบัวตอง
ทุ่งบัวตองนี้อยู่บนภูเขาสูงทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นภูเขาเทียมที่เกิดจากการนำดิน และกากถ่านหินจากเหมืองมาถมไว้ โดยมีแผนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวถาวร ด้วยการสร้างศาลาชมวิว พร้อมลานกิจกรรมด้านบนยอดดอย และปลูกบัวตองในบริเวณลาดเขารอบๆดอย เพื่อให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและเป็นพื้นที่สีเขียว
ทุ่งบัวตอง (สวนเฉลิมพระเกียรติ เหมืองแม่เมาะ) ลำปาง
พิกัด GPS = 18.344791, 99.755511เนื่องจากกระทู้ชวนเที่ยว
ทริป 5-9 ธันวาฯ 58 ปางอุ๋ง-ปาย-อุทยานราชพฤกษ์-อช.แจ้ซ้อน ฯลฯ
http://www.gpsteawthai.com/index.php?topic=3137.0
ทริปนี้ทั้งหมด จากมุมกล้องของลูกชายล้วนๆ แล้วคัดมาลง เลยไม่มีภาพแบบเล่าเรื่อง แต่มีภาพสถานที่มาให้ชม ท่านผู้ชมก็ชมกันตามอัตภาพละนะ ห้ามบ่น ห้ามนินทา ห้ามตำหนิ อิอิ
ค่าใช้จ่าย น้ำมันดีเซลรถยนต์ ประมาณ 4,000 บาท (เฉลี่ยที่ 23 บาท/ลิตร) ในระยะทาง 2,299 กม.
***************************************
ล่องจาก อช.แจ้ซ้อน แวะวัดพระพุทธบาทปู่ผาแดง ที่ อ.แจ้ห่ม และสุดท้ายของวันนี้คือที่นี่ครับ
ตอนนี้เข้ามาในอาณาเขตพื้นที่เหมืองแม่เมาะแล้ว
เราจะเข้าโค้งซ้ายขึ้นเนิน ไปที่เห็นดอกบัวตองเหลืองๆ 2 ดอก ไกลๆ นั่นแหละ